W3C
fontsizes fontsizem fontsizel
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

กรมตรวจบัญชีสหกรณ์



 

แหล่งที่มา :  นาง สุมิตรา ณ สุวรรณ  นักวิชาการตรวจสอบบัญชี 8 
                    
                   

               ปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน  เป็นปัญหารากฐานที่สำคัญของคนในชนบท  เนื่องจากที่ดินเป็นสิ่งที่แสดงถึงความมั่นคงในชีวิต ทั้งทางด้านการอยู่อาศัยและการทำมาหากิน หากคนในชนบทไม่มี    ที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินแล้ว จะก่อให้เกิดปัญหาอื่นตามมาอันได้แก่การขาดรายได้  ความไม่มั่นคง ในอาชีพ  ส่งผลให้เกิดการอพยพเข้าสู่เมืองของคนในชนบทเพื่อเข้ามาหางานทำซึ่งจะทำให้เกิดความไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัยเป็นวงวัฏจักรอีกเช่นเดิมที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคืออาจก่อให้เกิดเป็นปัญหาสังคมฝังลึก เกินกว่าที่จะแก้ไขได้

               แม้ว่าภาครัฐจะได้เล็งเห็นความสำคัญของปัญหาด้านความมั่นคงในที่อยู่อาศัยของประชาชนผู้มีรายได้น้อยให้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง จึงเกิดการรวมตัวของกลุ่มผู้ที่มีรายได้น้อยและอาศัยอยู่ในชุมชนเดียวกันเพื่อจดทะเบียนเป็นสหกรณ์เคหสถานตามโครงการบ้านมั่นคง  โดยชุมชนจะเป็นแกนหลักในการร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมกับภาคีต่างๆ ในท้องถิ่นภาครัฐจะอุดหนุนเงินงบประมาณค่าพัฒนาระบบสาธารณูปโภค และสิ่งแวดล้อมแก่ชุมชน ซึ่งนอกจากจะเน้นการสร้างความมั่นคงในเรื่องที่อยู่อาศัยแล้ว  ยังมุ่งสร้างสังคมให้เป็นชุมชนที่มั่นคงเข้มแข็ง มีการช่วยเหลือเอื้ออาทรซึ่งกันและกัน  อันจะนำไปสู่  การสร้างความมั่นคงของชีวิตด้านสังคมและเศรษฐกิจแก่ชาวชุมชนในที่สุด อย่างไรก็ตามการดำเนินงานของสหกรณ์ภายใต้สภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจ  สังคมและการเมืองในปัจจุบัน  ซึ่งมีทั้งความผันผวน  ทางเศรษฐกิจ  ความขัดแย้งในสังคมการแข่งขันอย่างรุนแรง และความไม่แน่นอนทางการเมืองสหกรณ์ย่อมได้รับผลกระทบโดยตรงทั้งภาวะเงินเฟ้อ  นโยบายการเงินของรัฐบาลในส่วนของอัตราดอกเบี้ย  นโยบายในการให้ความช่วยเหลือแก่สหกรณ์ซึ่งขึ้นอยู่กับเสถียรภาพของรัฐบาล  นอกจากนี้  สภาพแวดล้อมภายในสหกรณ์ไม่ว่าจะเป็นสมาชิก  คณะกรรมการดำเนินการ  หรือฝ่ายจัดการก็ยังจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการดำเนินงานด้วยเช่นกัน เมื่อได้พิจารณาถึงความเสี่ยงในภาพรวมของสหกรณ์เคหสถานทั่วประเทศ  (สำหรับสหกรณ์เคหสถานตามโครงการบ้านมั่นคงจัดรวมอยู่ในสหกรณ์ประเภทนี้ด้วย) สามารถแยกออกเป็น 2 ปัจจัย คือ

ความเสี่ยง (RISK) หมายถึง  โอกาสที่จะเกิดความผิดพลาดความเสียหาย  การรั่วไหล ความสูญเปล่า  หรือเหตุการณ์ซึ่งไม่พึงประสงค์ที่ทำให้งานไม่ประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่กำหนด  หากหน่วยงานยังขาดความสามารถในการบริหารจัดการ  และไม่มีการปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น  ทำให้เกิดความเสี่ยงขึ้นในองค์กร  ซึ่งมักจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับความล่าช้า ความสิ้นเปลือง ความสูญเปล่าความไม่ประหยัด มีข้อบกพร่อง เกิดข้อผิดพลาด  มีการรั่วไหล มีการทุจริตประพฤติมิชอบ และมีเรื่องความขัดแย้งทางผลประโยชน์


1. สภาพแวดล้อมภายใน
 
สหกรณ์เคหสถานจัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์หลักในการช่วยเหลือซึ่งกันและกันของสมาชิกให้ได้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง  ปัจจัยเสี่ยงจากสภาพแวดล้อมภายในที่มีผลกระทบต่อสหกรณ์เคหสถานที่สำคัญสามารถวิเคราะห์ได้  ดังนี้
  • โครงสร้าง  แม้ว่าสหกรณ์เคหสถานจะมีโครงสร้างที่ชัดเจน  มีการแบ่งส่วนงาน  การแบ่งแยกหน้าที่ความรับผิดชอบโดยยึดหลักการควบคุมภายในที่ดีไว้ก็ตาม  แต่ในทางปฏิบัติสหกรณ์มีข้อจำกัด    ในเรื่องของทุนดำเนินงานและการดำเนินงานในระยะเริ่มแรกทำให้ไม่สามารถจัดจ้างเจ้าหน้าที่เข้ามาปฏิบัติงานในตำแหน่งต่างๆ  ตามที่กำหนดไว้ในโครงสร้างได้ครบถ้วนทุกตำแหน่ง  ซึ่งสหกรณ์ได้แก้ไขจุดอ่อนจากการควบคุมภายใน    โดยมอบหมายให้คณะกรรมการมาทำหน้าที่ในตำแหน่งต่างๆ ที่กำหนดไว้  ตัวอย่างเช่นมอบหมายให้เหรัญญิกมาปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่การเงิน  หรือมอบหมายให้เลขานุการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่บัญชี  ทั้งนี้  ตำแหน่งงานบางตำแหน่งต้องอาศัยความรู้ความสามารถและทักษะในการปฏิบัติงาน จึงทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการใช้ข้อมูลสารสนเทศทางการเงินเพื่อตัดสินใจในการดำเนินงานของสหกรณ์ได้ทันต่อเหตุการณ์
  • การบริหารจัดการ   ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากฝ่ายบริหารของสหกรณ์เคหสถาน      ได้แก่  กรณีที่กรรมการซึ่งเป็นผู้ทำหน้าที่ฝ่ายบริหารแต่ขาดความรู้  ความเข้าใจในระบบสหกรณ์  หรืออำนาจในการบริหารงานอยู่ที่กรรมการคนใดคนหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง  อาจทำให้การสั่งการ  การตัดสินใจในการบริหารงานกระทบต่อผลการดำเนินงานของสหกรณ์ได้  และที่สำคัญอาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นจากสมาชิกและบุคคลภายนอกได้
  •  บุคลากร  จากการที่สหกรณ์เคหสถานมุ่งเน้นในการช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการจัด    ให้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ประกอบกับหากเป็นสหกรณ์จัดตั้งใหม่ยังขาดเงินทุนที่จะนำมาใช้ในการดำเนินงานในสหกรณ์ด้วยแล้วนั้น   ทำให้สหกรณ์ไม่สามารถจัดจ้างเจ้าหน้าที่ได้ครบถ้วนทุกตำแหน่ง  อีกทั้งการจัดทำบัญชีของสหกรณ์   ยังต้องอาศัยเจ้าหน้าที่ของทางราชการมาช่วยเหลือในการบันทึกบัญชีและจัดทำบัญชีย่อยต่างๆ  ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงในการจัดทำงบการเงินของสหกรณ์  สหกรณ์ไม่สามารถนำข้อมูลในงบการเงินมาใช้ในการบริหารจัดการได้ทันต่อเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
  • การเงินการบัญชี  แม้ว่าสหกรณ์จะกำหนดให้มีการแบ่งแยกหน้าที่ความรับผิดชอบระหว่างเจ้าหน้าที่การเงินและเจ้าหน้าที่บัญชี  แต่ด้วยข้อจำกัดของเงินทุนทำให้ไม่สามารถจัดจ้างเจ้าหน้าที่ได้ครบถ้วนตามตำแหน่งที่กำหนดไว้ในโครงสร้างของสหกรณ์  บางแห่งมีการจัดจ้างเจ้าหน้าที่เพียงคนเดียวทำหน้าที่ทั้งการรับเงิน  การจ่ายเงิน และเก็บรักษาเงินของสหกรณ์  พร้อมกับการบันทึกบัญชีด้วย  สหกรณ์จึงมีความเสี่ยงทางด้านการเงินได้

2. สภาพแวดล้อมภายนอก  ในการดำเนินงานของสหกรณ์เคหสถานย่อมได้รับผลกระทบ   จากสภาพแวดล้อมภายนอก  ซึ่งปัจจัยเสี่ยงจากสภาพแวดล้อมภายนอกที่สำคัญสามารถวิเคราะห์ได้  ดังนี้

  • นโยบายรัฐ  นโยบายของรัฐบาลที่มุ้งเน้นในการแก้ไขปัญหาความมั่นคงในเรื่องที่อยู่อาศัยและสร้างโอกาสการพัฒนาในชุมชนแออัดทั่วประเทศ  มุ่งสร้างสังคมชุมชนที่มั่นคงเข้มแข็ง  นำไปสู่การสร้างความมั่นคงของชีวิตด้านสังคมและเศรษฐกิจแก่ชาวชุมชน แต่หากรัฐบาลขาดเสถียรภาพทางการเมืองแล้วจะส่งผลให้การดำเนินงานดังกล่าวไม่ต่อเนื่อง  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.)  อาจจะไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณเพื่อนำไปดำเนินการให้สินเชื่อแก่สหกรณ์  หรือมีการเบิกจ่ายเงินล่าช้า     ทำให้การจ่ายเงินสนับสนุนให้แก่สหกรณ์ไม่ต่อเนื่องไปด้วย  อันจะทำให้สหกรณ์เกิดความเสี่ยงในการขาดสภาพคล่องทางการเงินได้
  •  เศรษฐกิจ    แม้ว่าสหกรณ์เคหสถานจะได้รับสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ  เป็นเงินกู้ระยะยาว  จากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.)  ก็ตาม  แต่ท่ามกลางความผันผวนทางเศรษฐกิจเช่นนี้  สหกรณ์ย่อมได้รับผลกระทบตามไปด้วยเนื่องจากต้นทุนการก่อสร้างเพิ่มขึ้น  เนื่องมาจากราคาวัสดุก่อสร้างที่ปรับสูงขึ้น  อีกทั้งค่าแรงงานก็เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน  แม้ว่าการก่อสร้างบางกรณีสมาชิกในสหกรณ์จะช่วยกันดำเนินการก่อสร้างเองก็ตาม  ทำให้เกิดความเสี่ยงให้การก่อสร้างที่อยู่อาศัยไม่สำเร็จตามวัตถุประสงค์ได้
  •  สังคม  สังคมไทยในปัจจุบันเป็นครอบครัวเชิงเดี่ยว  ความผูกพันในครอบครัวมีน้อยเพราะต่างต้องรับผิดชอบในการทำงานซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาครอบครัวแตกแยก  บุคคลในครอบครัวขาดความอบอุ่น  มีปัญหาด้านคุณธรรมจริยธรรม  รวมถึงมีความขัดแย้งทางความคิดสูงก่อให้เกิดความขัดแย้งภายในสังคมอย่างกว้างขวาง สหกรณ์เคหสถานบางแห่งเกิดขึ้นจากนโยบายของรัฐบาล       ที่ต้องการแก้ไขปัญหาในเรื่องที่อยู่อาศัยให้แก่ผู้ที่มีรายได้น้อย  และสร้างโอกาสการพัฒนาในชุมชนแออัดทั่วประเทศ  สมาชิกของสหกรณ์จึงมีพื้นฐานทางครอบครัวต่างกัน  การขาดวินัยทางการเงินของสมาชิก    ทำให้ไม่ชำระหนี้เงินกู้ หรือค่างวดเช่าซื้อภายในระยะเวลาที่กำหนดซึ่งจะส่งผลให้เกิดปัญหาต่อการบริหารการเงินในสหกรณ์อันจะกระทบต่อผลการดำเนินงานของสหกรณ์ทำให้สหกรณ์ขาดสภาพคล่องทางการเงินได้
  •          คู่แข่งขันทางการตลาด  นโยบายการแก้ไขปัญหาทางด้านที่อยู่อาศัยให้แก่ผู้มีรายได้น้อยของรัฐบาลนั้นยังมีโครงการบ้านเอื้ออาทรที่มีการเคหะแห่งชาติรับผิดชอบดำเนินการก่อสร้างทั้งอาคารชุดและบ้านแนวราบเพื่อขายให้แก่ประชาชนผู้มีรายได้น้อยเช่นกัน  สำหรับประชาชนที่ซื้อบ้านของ       การเคหะแห่งชาติสามารถขอใช้สินเชื่อได้จากธนาคารอาคารสงเคราะห์  หรือธนาคารพาณิชย์ทั่วไป  ดังนั้น  หากสหกรณ์เคหสถานไม่สามารถดำเนินการได้ตามวัตถุประสงค์  กล่าวคือ  หากชุมชนไม่เข้มแข็งไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้  สมาชิกไม่มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน  หรือการบริหารงานของฝ่ายบริหารขาดความน่าเชื่อถือ อาจทำให้สมาชิกหวาดระแวงไม่ไว้วางใจต่อการบริหารงานของคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์แล้ว  สมาชิกอาจจะลาออกเพื่อไปซื้อบ้านหรืออาคารชุดของโครงการบ้านเอื้ออาทร   ซึ่งหากสมาชิกพร้อมใจกันลาออกก็จะเกิดความเสี่ยงต่อการดำรงอยู่ของสหกรณ์ได้
  •  กฎหมาย  ในการจัดสรรที่ดินของสหกรณ์เคหสถานตามโครงการบ้านมั่นคงเป็นการดำเนินการตามโครงการของรัฐบาลที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องขออนุญาตจัดสรรที่ดินก่อนดำเนินการ  นอกจากนี้สหกรณ์ยังได้รับการผ่อนผันหรือยกเว้นในบางกรณีอีก  เช่น  การผ่อนปรนกฎหมายควบคุมอาคาร  การได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะและค่าธรรมเนียมในการโอนที่ดิน  หรือค่าธรรมเนียมในการทำนิติกรรมจำนองค้ำประกันเงินกู้กับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.)  เป็นต้น  ซึ่งเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อการดำเนินงานของสหกรณ์ให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการให้ผู้ที่มีรายได้น้อยได้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองนั้น  ทั้งนี้  หากสหกรณ์มีการดำเนินธุรกิจที่นอกเหนือจากการได้รับการผ่อนผันหรือยกเว้น  สหกรณ์จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายด้วย  ตัวอย่างเช่น  สหกรณ์รับก่อสร้างบ้านให้แก่สมาชิก  ซึ่งตามประมวลรัษฎากรถือว่าเป็น  การให้บริการ  หากสหกรณ์เป็นผู้มีเงินได้  ตามระบบภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งกำหนดให้ผู้ประกอบการขายสินค้าหรือให้บริการที่มีรายรับตั้งแต่  1,800,000.-  บาทขึ้นไป  มีหน้าที่ต้องจดทะเบียนและเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม   โดยให้ใช้อัตราภาษีร้อยละ 7   ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม  พร้อมกับปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กรมสรรพากรกำหนด  ซึ่งหากมีการละเว้นสหกรณ์อาจถูกเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง  พร้อมกับเบี้ยปรับและเงินเพิ่มได้    ดังนั้น  สหกรณ์จึงต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องสำหรับกรณีที่ไม่ได้รับการยกเว้นหรือผ่อนผัน  ซึ่งหากมีการละเว้น  ไม่ปฏิบัติตามแล้วกฎหมายได้มีบทกำหนดโทษไว้อย่างชัดเจน  ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสหกรณ์ในระยะยาวได้  

                    ดังนั้น  เพื่อให้การบริหารงานของสหกรณ์ประสบผลสำเร็จอันจะเป็นประโยชน์ต่อมวลสมาชิก  และบรรลุวัตถุประสงค์ในการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคม  สหกรณ์ควรได้มีการบริหารจัดการความเสี่ยงดังกล่าว  ซึ่งบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงในการจัดการความเสี่ยงให้ลดลงได้นั้น  คือ

                    สมาชิก   สมาชิกสหกรณ์เป็นทั้งเจ้าของสหกรณ์และผู้รับบริการจากสหกรณ์  การดำรงอยู่ของสหกรณ์จึงขึ้นอยู่กับสมาชิกเป็นสำคัญ   ดังนั้น  สมาชิกจะต้องเข้าใจบทบาทหน้าที่ของตนเอง  ในฐานะเจ้าของสหกรณ์สมาชิกจะต้องให้ความสำคัญในการเข้าร่วมประชุมใหญ่เพื่อรับทราบผลการดำเนินงาน  กำหนดนโยบาย  คัดเลือกคณะกรรมการ  ผู้ตรวจสอบกิจการ  อนุมัติงบการเงินและแผนงาน งบประมาณประจำปี  และที่สำคัญสมาชิกจะต้องมีวินัยต่อตนเองทั้งในการออมเงินและการจ่ายชำระหนี้คืนแก่สหกรณ์   ในฐานะผู้ใช้บริการของสหกรณ์  หากสหกรณ์มีกระแสเงินสดเข้ามาอย่างต่อเนื่องแล้วจะเป็นผลให้สหกรณ์มีสภาพคล่องทางการเงินสามารถนำเงินไปชำระหนี้เงินกู้ได้ตามกำหนดสัญญา  พร้อมกับมีเงินทุนสำหรับบริหารจัดการในสหกรณ์ได้อย่างเพียงพอด้วย  เพื่อที่จะอำนวยประโยชน์ให้แก่สมาชิกและท้ายที่สุดผลประโยชน์ที่ได้รับก็จะกลับคืนมาสู่สมาชิกหรือชุมชนสหกรณ์นั่นเอง  อีกทั้งสมาชิกควรยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในการดำรงชีวิต  กล่าวคือ  การให้ความสำคัญกับการอยู่อาศัยแบบพอเพียง  โดยยึดหลักพออยู่  พอกิน  พอใช้  ไม่ใช้จ่ายเกินตัว  เกินฐานะที่หามาได้ควบคู่ไปกับการมุ่งลดรายจ่าย  หารายได้เพิ่มอย่างต่อเนื่องและหลีกเลี่ยงการก่อหนี้เพิ่ม  ซึ่งเมื่อสมาชิกเกิดความพอดี  และมีจิตใจเข้มแข็ง  มีจิตสำนึกที่ดี  มองโลกในแง่ดี  มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่  คำนึงถึงผลประโยชน์ของส่วนรวม หรือชุมชนสหกรณ์เป็นที่ตั้ง  สามารถพึ่งพาตนเองได้  ส่งผลให้เกิดความพอดีทางด้านสังคม  ทำให้เป็นสังคมที่เอื้ออาทรต่อกัน  มีความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน  รู้รักสามัคคี  อันจะทำให้เกิดความเข้มแข็งแก่ครอบครัวและชุมชนได้อย่างมั่นคงตลอดไป

คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์  ในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาส่งผลให้ผู้บริหารต้องสร้างวิสัยทัศน์และปรับเปลี่ยนแนวทางในการบริหารงานให้สอดคล้องกับสภาวการณ์   คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์  ซึ่งสมาชิกเลือกขึ้นมาเป็นตัวแทนของตนในการบริหารงานของสหกรณ์   ต้องมีความรับผิดชอบในการบริหารจัดการ   และดำเนินการทั้งปวงของสหกรณ์ให้มีประสิทธิภาพ  เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งต่อสมาชิกและสหกรณ์ เพื่อให้เกิดความมั่นคงอย่างยั่งยืน  ดังนั้น  คณะกรรมการต้องปฏิบัติงานด้วยความโปร่งใส  ซื่อสัตย์สุจริต  เป็นที่เชื่อถือศรัทธาแก่สมาชิก มีคุณธรรม  มีความรับผิดชอบ  มีความเสมอภาคในการให้บริการ  ยินดีที่จะเปิดโอกาสให้สมาชิกได้มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย  และตรวจสอบการทำงานของกรรมการได้มากขึ้น  เพื่อให้การบริหารงานของสหกรณ์มีประสิทธิภาพพร้อมกับให้มีการติดตามประเมินผลการบริหารงานเป็นระยะๆ อย่างต่อเนื่อง   การสนับสนุนให้สหกรณ์มีระบบการควบคุมภายในที่ดีและเพียงพอต่อการปฏิบัติงานด้านต่าง ๆ รวมทั้งการสรรหาฝ่ายจัดการที่มีความรู้ความสามารถมีการติดตามประเมินผลการปฏิบัติงานตามระบบ  และปรับปรุงให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป  อีกทั้งคณะกรรมการต้องรู้จักใช้ข้อมูลทางบัญชีในการบริหารงานเพื่อช่วยในการตัดสินใจ  และสามารถกำหนดนโยบาย  แผนงาน  งบประมาณ  ได้อย่างเหมาะสม  นอกจากนี้คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ต้องหมั่นศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม  เพื่อให้การบริหารงานมีประสิทธิภาพ  โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับกฎหมายเนื่องจากการดำเนินธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เกี่ยวข้องกับกฎหมายที่สหกรณ์จะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องต่อไป 

                   เจ้าหน้าที่สหกรณ์  เจ้าหน้าที่สหกรณ์ถือเป็นตัวจักรสำคัญที่จะขับเคลื่อนให้การดำเนินงานของสหกรณ์เป็นไปอย่างราบรื่น  เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของสหกรณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น สหกรณ์ควรได้มีการคัดเลือกบุคคลที่มีทักษะ  ความรู้  ความสามารถและความชำนาญเข้ามาปฏิบัติหน้าที่   ให้เหมาะสมกับตำแหน่ง  พร้อมทั้งกำหนดค่าตอบแทนและสวัสดิการต่างๆ  เพื่อให้เจ้าหน้าที่มีขวัญและกำลังใจในการทำงาน  และวางแผนในการพัฒนาเจ้าหน้าที่เพื่อให้มีความสามารถ และทักษะในการทำงานเพิ่มมากขึ้นด้วย          ทั้งนี้  เจ้าหน้าที่สหกรณ์จะต้องปฏิบัติงานตามหน้าที่ที่รับผิดชอบด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต มีการปฏิบัติงานเป็นไปตามนโยบาย  กฎ  ข้อบังคับ  มติ  และระเบียบปฏิบัติต่างๆ  ที่สหกรณ์กำหนด  รวมถึงการดูแลและใช้สินทรัพย์ต่างๆ  ของสหกรณ์อย่างเหมาะสม  คุ้มค่า  และเกิดประโยชน์ต่อสมาชิกซึ่งเป็นเจ้าของสหกรณ์ให้มากที่สุด     

 

                   อย่างไรก็ตามการเสริมสร้างความเข้มแข็งของสหกรณ์นั้นต้องได้รับการบูรณาการร่วมกันทุกฝ่าย เพื่อให้เกิดความมั่นคงในที่อยู่อาศัย  เป็นการสร้างสังคมให้เป็นชุมชนที่มั่นคงเข้มแข็งพึ่งพาตนเองได้   โดยการช่วยตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกันโดยวิธีการสหกรณ์  อันจะนำไปสู่สังคมแห่งความรักความเอื้ออาทร  สร้างความมั่นคงของชีวิตทั้งทางด้านสังคมและเศรษฐกิจแก่ชาวชุมชนในสหกรณ์  และเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนของสหกรณ์ตลอดไป  


เกี่ยวกับเรา
  • ประวัติ
  • อาคารอนุรักษ์
  • ทำเนียบอธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์
  • ผังโครงสร้างกรมตรวจบัญชีสหกรณ์
  • วิสัยทัศน์ พันธกิจ และเป้าหมาย
  • ค่านิยมหลัก
  • วัฒนธรรมองค์กร
  • ทำเนียบ / สถานที่ตั้ง

  • กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

    สงวนลิขสิทธิ์ 2559 - กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ 12 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200
    ศูนย์บริการประชาชน (Call Center) 0 2016 8888 โทรสาร 0 2282 0889
     

    Valid HTML 4.01 Transitional

    การแสดงผลหน้าเว็บไซต์จะสมบูรณ์ที่สุดสำหรับ Google Chrome และ Internet Explorer ความละเอียดหน้าจอ 1024 x 650 pixel